ต้นกำเนิดการแสดงโขน

“โขน” เป็นมหรสพชั้นสูงที่ใช้แสดงในงานสำคัญๆมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกับหนังใหญ่เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่โบราณประมาณก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 โดยสันนิษฐานว่า “โขน” ได้พัฒนามาจากการแสดง 3 ประเภท คือ

  • การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์

เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของไทย มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นการแสดง “เรื่องการชักนาค” เพื่อเอาน้ำอมฤตจากเกษียรสมุทร ตามคติของฮินดู มักจะแสดงในงานมหรสพหลวง การละเล่นชักนาค มีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนที่กล่าวถึงพระราชพิธีอินทราภิเษกว่า มีการตั้งเขาพระสุเมรุและภูเขาอื่น ๆ ที่กลางสนาม แล้วให้ตำรวจเล็กแต่งตัวเป็นอสูร 100 ตน มหาดเล็กแต่งตัวเป็นเทวดา และวานรอย่างละ 100 และแต่งเป็นสุครีพ พาลี และมหาชมพูอย่างละหนึ่งตัว เข้าขบวนแห่ พร้อมด้วยเครื่องทำพิธีชักนาคดึกดำบรรพ์ โดยให้อสูรชักหัว เทวดา และวานรชักหาง 

ด้วยเหตุนี้โขนจึงได้นำเอาศิลปะการแสดงจากแบ่งฝ่ายการเล่นและศิลปะการแต่งกายมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ซึ่งลักษณะการแต่งกายในการแสดงโขนนั้น  ตัวละครแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายยักษ์ ฝ่ายลิง ฝ่ายมนุษย์ และเทวดา ซึ่งแต่ละฝ่ายจะแต่งกายตามแบบที่เรียกว่า “ยืนเครื่อง”  ทุกตัว แต่จะลดหลั่นความงดงามไปตามฐานะของตัวละครในเรื่อง ตัวสำคัญจะแต่งกายคล้ายคลึงกัน แต่ต่างกันที่สีของเครื่องแต่งกายและลักษณะของหัวโขน เครื่องแต่งกายฝ่ายมนุษย์ และเทวดาจะเป็นการแต่งกายแบบยืนเครื่อง ตัวละครที่สำคัญมากจะระบุสีเสื้ออย่างชัดเจน

คลิปการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์

  • การแสดงกระบี่กระบอง

เป็นกีฬา การแสดงสาธิต และการต่อสู้ป้องกันตัว จะต้องฝึกให้มีความเชี่ยวชาญกับการใช้อาวุธของไทยหลายชนิดในกระบวนท่าต่างๆ ไว้สำหรับป้องกันตนเองและประเทศชาติ อีกทั้งเป็นการประชันกันในเชิงฝีมือไหวพริบในการต่อสู้ การหลอกล่อ หลบหลีก ยั่วยุคู่ต่อสู้ จากลีลาท่าทางเหล่านี้ โดยทำเลียนแบบอาวุธจริง เป็นไม้ โลหะ หนังสัตว์ เช่น ดาบ หอก ง้าว ดั้ง เขน โล่ ไม้ศอกสั้น เป็นต้น

การแสดงโขนในสมัยโบราณน่าจะรับเอาแบบอย่างที่ใช้ในศิลปะการต่อสู้มาปรับปรุงประดิษฐ์เป็นท่าทางของการเต้น  การเยื้องกราย  และเป็นท่าทางร่ายรำของการต่อสู้ในการแสดงโขน

คลิปการแสดงกระบี่กระบองการต่อสู้ด้วยดาบสองมือ

  • ารแสดงหนังใหญ่

เป็นมหรสพที่แพร่หลายของคนไทยอีกอย่างหนึ่ง ตัวหนังจะใช้แผ่นหนังวัวฉลุเป็นรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ และมีไม้ผูกทาบตัวหนังไว้ทั้งสองข้าง เพื่อให้ตัวหนังตั้งตรงไม่งอ และทำให้มีคันยื่นลงมาใต้ตัวหนังเป็นสองข้างสำหรับจับถือ และยกได้ถนัด สถานที่เล่นจะปลูกโรงผ้าใช้ผ้าขาวคาดเป็นจอ ส่วนด้านหลังจอจะจุดไต้และก่อไฟไว้ เพื่อให้แสงทำให้เห็นเงาตัวหนังซึ่งมีลวดลายวิจิตรมาติดอยู่ที่จอผ้าขาว และการเชิดนั้นคนเชิดต้องเต้นไปตามจังหวะดนตรีและบทพากย์บทเจรจาด้วย

ซึ่งการแสดงโขนนั้นก็มีการพากย์ เจรจา การขับร้อง การเต้น และรำ ทำท่าตามบทพากย์ และตามเพลงหน้าพาทย์    จึงเห็นได้ว่าการแสดงโขนได้รับอิทธิพลด้านศิลปะการแสดงจากการแสดงหนังใหญ่

คลิปการแสดงหนังใหญ่วัดบ้านดอน จ.ระยอง (ทัพลิง)

ที่มา:http://www.oknation.net/

ใส่ความเห็น