พิธีกรรมและความเชื่อ

โขนเป็นนาฏศิลปชั้นสูง ที่มีธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อในการปฏิบัติหลายอย่าง สืบต่อกันมาแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน บางอย่างมีการปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา และความเหมาะสม บางอย่างคงใช้อยู่ตามรูปแบบเดิม บางอย่างสูญหายไปตามกาลเวลาหัวโขน1.jpg

โดยเฉพาะหัวโขนซึ่งจัดเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างมากในการแสดงโขนเนื่องจากเป็นตัวชี้บ่งถึงบุคลิกและลักษณะนิสัยของตัวละครนั้น ๆ ช่างทำหัวโขนที่จัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่ ต้องผ่านการไหว้ครู และครอบครูเช่นเดียวกับนาฏศิลป์ประเภทอื่น ๆ มีความเคารพครูอาจารย์ตั้งแต่เริ่มฝึกหัด 

การออกโรงแสดงก็ต้องตั้งเครื่องให้ครบ ในพิธีต้องมีศีรษะโขนตั้งประดิษฐานเป็นเครื่องสักการะ ก่อนแต่งตัวต้องมีการไหว้ครู เมื่อแต่งเสร็จก่อนจะสวมหัวโขนหรือชฎาก็ต้องไหว้ครู การปลูกโรงโขน ต้องมีพิธีเซ่นบวงสรวงบอกเจ้าที่ เจ้าทางให้รับทราบเพื่อปัดเสนียดรังควาน ด้วยถือว่าการแสดงหลายอย่างที่แข่งขันหรือประชันกัน มักมีการใช้ไสยศาสตร์กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามให้เสียเปรียบ จึงต้องมีพิธีถอนอาถรรพ์กันก่อน

1เมื่อเลิกการแสดงแล้ว ผู้แสดงทุกคนจะต้องไหว้เคารพครูอีกครั้ง แล้วเข้าหลังโรงขอขมาลาโทษซึ่งกันและกันไปตามอาวุโส เพราะอาจมีการละเมิดล่วงเกินพลาดพลั้งไปในระหว่างการแสดง นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามสำคัญอีกหลายประการ เช่น ห้ามนำอาวุธที่ใช้ในการแสดงมาเล่นนอกเวลาแสดง ห้ามเดินข้ามอาวุธ ห้ามเล่นไม้ตะขาบ (ไม้ที่ตีเพื่อให้เกิดเสียงดังด้วยการตีเพียงเบาๆ มักใช้ในการแสดงของตัวตลก) การเก็บหรือวางเครื่องโขนทั้งเวลาแสดง และเวลาเก็บ ต้องแบ่งเป็นสัดส่วน อาวุธต่างๆต้องเก็บในที่อันเหมาะสม หัวโขนยักษ์ ลิง ก็ต้องเก็บกันไว้คนละด้านโดยมีหัวพระฤาษีวางคั่นกลาง เป็นต้น

ที่มา:https://th.wikipedia.org

ใส่ความเห็น