บทละครแสดงโขน

บทละครแสดงโขน เรื่องที่นำมาแสดง เป็นวรรณคดีที่สำคัญของไทย คือ เรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ของไทยหลายพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์เป็นวรรณคดีที่เรียบเรียงจากเค้าโคลงและเนื้อหาของมหากาพย์รามายณะ แต่งโดยฤๅษีวาลมิกิของอินเดีย ซึ่งกล่าวถึงพระนารายณ์ เทพเจ้าสำคัญในศาสนาฮินดูที่อวตารมาเป็นพระราม เพื่อปราบปรามทศกัณฐ์ในกลียุค และยังถือว่ารามายณะนี้เป็นคัมภีร์ชั้นรองที่มีความสำคัญของชาวฮินดูด้วย

antoine-lonard_chzy_-_yajnadattabadaรามเกียรติ์เป็นเรื่องราวของพระนารายณ์ที่อวตารมาเกิดเป็นพระราม เพื่อปราบนนทกหรือทศกัณฐ์ดั่งวาจาที่ไว้ให้ตอนพระนาราย์ปราบนนทก ด้วยการให้นนทกมาเกิดเป็นพญายักษ์ มีสิบเศียรสิบกร มีฤทธิ์มากมาย ส่วนตนจะมาเกิดเป็นมนุษย์ธรรมดาเพื่อตามปราบให้สิ้นซาก สงครามระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์เริ่มต้นขึ้น ภายหลังจากทศกัณฐ์เกิดหลงรักนางสีดา มเหสีของพระราม จึงลักพาตัวมาไว้ที่กรุงลงกาเพื่อให้เป็นมเหสีของตนเอง พระรามและพระลักษมณ์ซึ่งเป็นพระอนุชาที่ติดตามออกผนวชในป่า ได้ออกติดตามเพื่อชิงตัวนางสีดากลับคืน ระหว่างทางพบกับพาลี สุครีพ ท้าวมหาชมพูและชมพูพาน รวมทั้งได้กองทัพลิงมาเป็นบริวาร มีหนุมานเป็นทหารเอก ร่วมทำศึกกับทศกัณฐ์จนกระทั่งได้รับชัยชนะ

รามเกียรติ์ตามแบบฉบับของไทย แต่งเป็นบทละครสำหรับแสดงเป็นตอน ๆ หรือแสดงทั้งเรื่อง ใช้สำหรับแสดงโขน หนังใหญ่และละคร แต่งขึ้นหลายยุคหลายสมัย

  • บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงศรีอยุธยา

รามเกียรติ์คำฉันท์ เป็นบทละครที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยใด แต่งขึ้นสำหรับใช้ในการแสดงหนังใหญ่ จากจดหมายเหตุลาลูแบร์ที่มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับโขน ทำให้สามารถระบุได้ว่าการแสดงโขนนั้น ต้องมีมาแต่ก่อนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปัจจุบันต้นฉบับคำฉันท์สูญหายไปเกือบหมดตามกาลเวลา มีการกล่าวถึงในหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดีเพียง 3 – 4 บทเท่านั้นคือ บทละครตอนพระอินทร์สั่งให้พระมาตุลีนำราชรถมาถวายยังสนามรบ บทละครตอนพระรามโศกเศร้าเสียใจ รำพันคร่ำครวญเมื่อคราวที่ทศกัณฐ์ลักพาตัวนางสีดา บทละครแบบพรรณาตอนมหาบาศบุตรของทศกัณฐ์ และบทละครตอนพิเภกคร่ำครวญหลังทศกัณฐ์ล้ม

  • บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงธนบุรี

บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงธนบุรี เป็นบทละครที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชนิพนธ์ไว้เพียง 4 ตอนเท่านั้น ปรากฏหลักฐานในการแต่งในสมุดไทยดำ โดยทรงพระราชนิพนธ์บทละครไม่เรียงตามลำดับก่อนหลังของเนื้อเรื่องบทละครเล่ม 1 ตอนพระมงกุฎ บทละครเล่ม 2 ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินทร์ บทละครเล่ม 3 ตอนท้าวมาลีวราชว่าความจนถึงทศกัณฐ์เข้าเมืองและตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด และบทละครเล่ม 4 ตอนพระลักษมณ์ต้องหอกกบิลพัทจนถึงหนุมานผูกผมนางมณโฑกับทศกัณฐ์ 

  • บทละครรามเกียรติ์สมัยรัตนโกสินทร์

บทละครรามเกียรติ์ เป็นบทละครในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ที่มีพระราชประสงค์จะรวบรวมบทละครรามเกียรติ์ทั้งหมดให้เป็นเรื่องเดียวกัน โปรดให้มีการประชุมบทละครเรื่องรามเกียรติ์และพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง เป็นบทละครที่มีความยาวมากที่สุดในรามเกียรติ์ทุกเรื่องในภาษาไทย เป็นวรรณคดีเขียนในสมุดไทย 117 เล่มสมุดไทย

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเห็นว่าบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 มีความเยิ่นเย้อและยาวเกินไป ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ประกอบการเล่นโขน จึงทรงคัดเลือกเพียงบางตอนคือ บทละครตั้งแต่หนุมานถวายแหวนแก่นางสีดาจนถึงทศกัณฐ์ล้ม นำมาพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ใช้สำหรับเล่นโขนในพระราชสำนัก บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 2 เป็นหนังสือ 36 เล่มสมุดไทย

En (11).jpgในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์เพิ่มอีกหนึ่งสำนวนคือ ตอนพระรามเดินดง เป็นหนังสือ 4 เล่มสมุดไทย นอกจากนั้นยังทรงพระราชนิพนธ์แปลงบทละครเบิกโรงเรื่องนารายณ์ปราบนนทกและพระรามเข้าสวนพระพิราพเพิ่มขึ้นอีก 2 ตอน รวมทั้งมีการปรับปรุงบทละครเรื่องรามเกียรติ์อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องและบทพากย์ขึ้นใหม่สำหรับเล่นโขนขึ้นมีทั้งหมด 10 ชุดคือ ชุดสีดาหาย ชุดเผาลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกา ชุดนาคบาศ ชุดอภิเษกสมรส ชุดนางลอย ชุดพิธีกุมภนียาและชุดพรหมาสตร์

ที่มา:https://th.wikipedia.org

ใส่ความเห็น